วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เวทีครั้งที่ ๑ ....สร้างความเข้าใจเบื้องต้นร่วมกัน











วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานตามโครงการการบริหารจัดการหมู่บ้านต้นแบบ : กรณีบ้านหนองหล่ม หมู่ที่ ๓ ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร และได้มีการจัดเวทีประชาคมครั้งแรกเมื่อนวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ โดยมีสรุปผลการจัดเวที ดังนี้

การจัดเวทีประชาคม (ครั้งที่ ๑) ตามโครงการการบริหารจัดการหมู่บ้านต้นแบบ ในครั้งนี้ เป็นกระบวนการเริ่มต้นของการดำเนินงานโครงการการบริหารจัดการหมู่บ้านต้นแบบ ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี ๒๕๕๔ ของวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร โดยมีหน่วยจัดการศึกษาอำเภอดอนตาล เป็นประสานการดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างส่วนราชการอำเภอดอนตาล ซึ่งนำโดยท่านนายอำเภอดอนตาล และหัวหน้าส่วนราชการ วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร และแกนนำประชาชนในหมู่บ้านหนองหล่ม รวม ๔๐ คน ในการกำหนดให้หมู่บ้านหนองหล่มเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการพัฒนาชุมชน

การจัดเวทีประชาคม ดำเนินการในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านหนองหล่ม ดำเนินการในรูปของการเสนอข้อคิดเห็นร่วมกันของผู้เข้าร่วมเวทีประชาคม มีการบันทึกและสรุปผลการจัดเวทีประชาคม และประมวลผลรายงาน มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
๑. ผลการจัดเวทีประชาคม การจัดเวทีประชาคมในครั้งนี้ สรุปผลจากการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอของผู้เข้าร่วมเวทีประชาคม ทั้งส่วนราชการและแกนนำประชาชนบ้านหนองหล่ม ต่อการดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านหนองหล่มที่ผ่านมา สรุปดังนี้
๑.๑ การดำเนินการเกิดจากการประสานงานระหว่างวิทยาลัยชุมชนกับอำเภอดอนตาล โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างหมู่บ้านต้นแบบในการพัฒนาชุมชน ทั้งนี้เพื่อหารูปแบบการให้การศึกษาชุมชนเพื่อการพัฒนา การสร้างหมู่บ้านต้นแบบโดยกระกวนการจัดการศึกษา และเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน
๑.๒ การประสานการเตรียมการดำเนินงาน ดำเนินการโดยผู้นำท้องถิ่น ได้แก่ กำนันตำบลโพธิ์ไทร และผู้ประสานภาคราชการได้แก่ วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร และพัฒนาการอำเภอดอนตาล
๑.๓ รูปแบบการจัดเวทีประชาคม ไม่เน้นพิธีการเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างส่วนราชการกับประชาชนในหมู่บ้านหนองหล่ม โดยมีผู้ดำเนินการจัดเวทีประชาคม (กระบวนกรหรือวิทยากรกระบวนการ)เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเสนอแนวคิด
๑.๔ การดำเนินงานของการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบที่สามารถเป็นตัวอย่างและขยายผลการพัฒนาไปยังหมู่บ้านอื่นๆได้ หมู่บ้านต้องดำเนินการด้วยตนเองคือ การพึ่งตนเองเป็นหลัก โดยมีภาคราชการเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริม
๑.๕ การดำเนินงานของวิทยาลัยชุมชน เข้าร่วมดำเนินการในฐานะสถาบันการศึกษา ที่จะสนับสนุนด้านวิชาการ และดำเนินการวิจัยการดำเนินงานตามโครงการไปพร้อมกัน โดยกระบวนการวิจัย PAR (Participatory Action Research)
๑.๖ หมู่บ้านหนองหล่ม ยังไม่มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน ที่เกิดจากการกำหนดของชุมชนเอง การดำเนินงานพัฒนาที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาจากภายนอกเป็นผู้กำหนด เช่น การเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกิดจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดำเนินการหลายหน่วยงาน โดยชาวบ้านมีความเต็มใจที่จะร่วมดำเนินการ แต่เกิดความไม่แน่ใจในแนวทางการดำเนินงานว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร
๑.๗ บ้านหนองหล่ม มีทุนทางสังคมจำนวนมาก สามารถใช้เป็นทรัพยากรในการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขาดการจัดการที่ดี
๑.๘ การบริหารจัดการหมู่บ้าน เป็นการบริหารจัดการแบบแยกส่วน ตามกิจกรรมที่ได้ดำเนินการ
๑.๙ ปัญหาสำคัญของการบริหารจัดการหมู่บ้าน คือ ไม่มีผู้ทำหน้าที่จัดการทรัพยากรหรือทุนทางสังคมที่มีอยู่ หรืออาจกล่าวได้ว่า ขาดผู้นำที่มีความสามารถด้านการจัดการ โดยเฉพาะการจัดการในภาพรวมของหมู่บ้าน ซึ่งน่าจะเป็นบทบาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ที่มีการแต่งตั้งไว้แล้ว แต่ในความเป็นจริง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะไม่ชัดเจนในบทบาทหน้าที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย (พ.ร.บ.การปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗)
๑.๑๐ เป้าหมายของการพัฒนาหมู่บ้าน อยู่ที่การสร้างความสงบสุข ความน่าอยู่ของหมู่บ้านให้เกิดขึ้นอย่างถาวรและยั่งยืน โดยใช้แนวทางการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ (หมู่บ้าน Homestay ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในช่วงปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖)
๑.๑๒ แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การปรับโครงการการบริหารจัดการหมู่บ้านให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) คระกรรมการหมู่บ้านท่องเที่ยว จำเป็นต้องได้รับการทบทวนบทบาทหน้าที่ให้มีความชัดเจน
๑.๑๓ การสร้างแกนนำหมู่บ้าน ที่มีความรู้ด้านการบริหารจัดการ เพื่อทำหน้าที่ในการจัดการหมู่บ้าน ให้สามารถดำเนินงานได้ โดยมีการจัดทำแผนการดำเนินงาน ที่มีเป้าหมาย ระยะเวลาที่ชัดเจน
๒. สรุป การดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบ บ้านหนองหล่ม เป็นภารกิจที่ท้าทายสำหรับวิทยาลัยชุมชน ที่จะทำหน้าที่ผู้ประสานการดำเนินงาน และนำรูปแบบการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน ลงไปดำเนินการในระดับชุมชน ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชน อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญคือ การเป็นฝ่ายสนับสนุนและส่งเสริม เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ การที่จะทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ในที่สุด บุคลากรของวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร จำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการทำงานกับชุมชน ทักษะการวิจัยแบบมีส่วนร่วม และมีกำลังใจ ทุ่มเท เสียสละ ในส่วนของประชาชนชาวบ้านหนองหล่ม ต้องสามารถค้นหาผู้นำที่แท้จริง ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ บนพื้นฐานของความต้องการที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองอย่างแท้จริง มีความภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง ที่มีทุนทางสังคมอยู่อย่างมากมาย มีความอดทนต่อความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้ มีกระบวนการถอดบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในอนาคตต่อไป

หนองหล่ม....บ้านต้นแบบ



บ้านหนองหล่ม หมู่ที่ ๓ ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน กิจกรรมการพัฒนาภายในหมู่บ้าน เกิดจากความต้องการของหน่วยงาน ความต้องการของประชาชน ผสมผสานกันไป จึงมีกิจกรรมที่มีความยั่งยืน และบางกิจกรรมลดความสำคัญลง ทั้งนี้ อาจด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยภายในหมู่บ้านเอง และปัจจัยภายนอกที่มีส่วนกำหนดความเป็นไปของบ้านหนองหล่ม

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรที่จะมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เป็นภารกิจที่ดำเนินการอยู่ จึงได้กำหนดเป็นกิจกรรมโครงการเพื่อการพัฒนาชุมชน จำนวน ๒ กิจกรรม คือ
(๑) โครงการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนรูปแบบวิทยาลัยชมชน : กรณีหมู่บ้านหนองหล่ม หมู่ที่ ๓ ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
(๒) โครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบ

การดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมดังกล่าว มีเป้าหมายสำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานของวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กระบวนการในการดำเนินงานตามโครงการ ใช้เวทีประชาคม เป็นกิจกรรมตั้งต้น เพื่อรวบรวม ระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย แล้วนำมากำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ตลอดปีงบประมาณ ๒๕๕๔